



ในระยะที่มีการก่อตั้งลูกเสือขึ้นในโลกนั้นประเทศไทยตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 สถานการณ์ของโลกในขณะนั้นกำลังทวีความคับขัน อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มไหลเข้าสู่เมืองไทย พร้อมกับการแพร่ระบาดของระบอบมหาชนรัฐ และภัยของชาติไทยก็คือการถูกรุกเงียบ แต่ด้วยพระปรีชาญาณของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระองค์ทรงเล็งเห็นการณ์ไกล จึงทรงมีพระราชดำริว่า การลูกเสืออันสืบเนื่องมาแต่งานปลุกชาติทางตรงนั้น หากได้นำมาปรับปรุงใช้ให้เหมาะสมกับเด็กไทยก็จะเป็นคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ชาติบ้านเมือง ทรงมั่นพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งทรงประกอบด้วยความกล้าหาญฝ่าอุปสรรคทั้งปวง เป็นต้น ว่าคำตำหนิติเตียนอันเกิดจากประชาชนที่ยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์และกิจการลูกเสือดีพอ ทำให้มีอุปสรรคเกิดขึ้นมากที่เห็นได้ชัด ดังเช่นผู้ปกครองเด็กโดยมากไม่ใคร่เต็มใจยินยอมให้เด็กของตนสมัครเข้าเป็นลูกเสือ โดยเข้าใจไปว่าการลูกเสือก็คือการเป็นทหารนั่นเอง ประกอบทั้งการลูกเสือต้องเป็นการเสียสละด้วยความเต็มใจ จึงเป็นการลำบากอยู่มาก ในชั้นแรกพระองค์ได้ดำเนินกุศโลบาย โดยได้ทรงพระอุตสาหะจัดตั้ง“กองเสือป่า” ขึ้นก่อน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2454 ทรงฝึกพวกผู้ใหญ่ (ส่วนใหญ่เป็นพวกข้าราชการ) เรียกว่าพวกพ่อเสือ ด้วยพระองค์เองโปรดเกล้าฯ ให้มีการซ้อมรบและฝึกซ้อมกลยุทธ์ ตามหลักวิชาการทหาร ที่พระองค์ได้รับการอบรมมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังความนิยมให้ประชาชนชาวไทยรู้จักคุณค่าแห่งการทหาร ด้วยทรงเล็งเห็นว่าประเทศจะดำรงคงอิสรภาพอยู่ได้ ก็ด้วยประชาชนทั้งหลายรักประเทศ ต่อมาได้ทรงพระราชดำริว่า กองเสือป่าได้ตั้งขึ้นเป็นหลักฐานแล้วพอที่จะหวังได้ว่าจะเป็นผลดี แต่ผู้ที่จะเป็นเสือป่านั้นต้องนับว่าเป็นผู้ใหญ่ ฝ่ายเด็กผู้ชายที่ยังอยู่ในวัยเด็กก็เป็นผู้ที่สมควรได้รับการฝึกฝนทั้งในส่วนร่างกายและจิตใจ ให้มีความรู้ทางเสือป่า เพื่อว่าโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่ ผู้ชายไทยทุกคนควรประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน และการฝึกฝนปลุกใจให้คิดถูกเช่นนี้ ต้องรีบฝึกฝนเสียตั้งแต่ยังเยาว์ เปรียบเหมือนไม้ที่ยังอ่อน จะดัดให้เป็นรูปอย่างไรก็เป็นไปได้โดยง่ายและงดงาม แต่ถ้ารอไว้จนแก่เสียแล้ว เมื่อจะดัดก็ต้องเข้าไฟ และมักจะหักจะมิได้ในขณะที่ดัด ดังนี้ฉันใดสันดานคนก็ฉันนั้น เมื่อมีพระราชดำริดังนี้แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นตามโรงเรียนและสถานที่อันสมควร และโปรดเกล้าฯ ให้มีกำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้นไว้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 พระราชประสงค์ที่ได้คิดจัดให้มีลูกเสือขึ้นนั้น ก็โดยปรารถนาที่จะให้เด็กไทยได้ศึกษาและจดจำข้อสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ความจงรักภักดีต่อผู้ทรงดำรงรัฐสีมาอาณาจักรโดยต้องนิติธรรมประเพณี
2. ความรักชาติบ้านเมือง และนับถือพระศาสนา
3. ความสามัคคีในคณะ และไม่ทำลายซึ่งกันและกัน
ซึ่งทั้ง 3 ประการนี้เป็นรากฐานแห่งความมั่นคงที่จะนำให้ชาติดำรงอยู่เป็นไทยได้สมนาม
กองลูกเสือของประเทศที่ตั้งขึ้น นับได้เป็นลำดับที่ 3 ของประเทศที่มีการลูกเสือโลก และกองลูกเสือกองแรกตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน)
ลูกเสือคนแรก คือ นายชัพน์ บุนนาค นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งถือว่าได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือเป็นคนแรก และเป็นผู้ที่ได้กล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือเป็นคนแรก โดยพระองค์ท่านได้พระราชโองการว่า “อ้ายชัพน์ เอ็งเป็นลูกเสือแล้ว” ต่อมากิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ
ในประเทศไทย

